Cdiscount

วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2557

ยาฆ่าเชื้อ & ยาแก้อักเสบ

มาทำความเข้าใจกับคำว่า "ยาฆ่าเชื้อ" และ "ยาแก้อักเสบ" กันค่ะ


     หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า ยาฆ่าเชื้อ กับ ยาแก้อักเสบ เป็นตัวเดียวกัน หลายครั้งที่เวลาไปร้านขายยา จะบอกกับเภสัชกรว่า ขอซื้อยาแก้อักเสบหน่อย เมื่อเภสัชกรจัดยาแก้อักเสบ เช่น Ibuprofen (Nurofen), Mefenamic acid (Ponstan) หรือ Diclofenac (Voltaren) ให้ ก็จะบอกว่า ไม่ใช่แบบนี้ อยากได้ยาที่มันเป็นแคปซูลสีแดงดำน่ะ ทำเอาเภสัชกรงงนะคะ เพราะแคปซูลสีแดงดำที่ว่ามานั้น น่าจะเป็นยา Ampicillin ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือ ยาปฎิชีวนะ (Antibiotic) 

     คราวนี้มาทำความเข้าใจกับ "ยาฆ่าเชื้อ" กันก่อน

     ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฎิชีวนะนั้น ใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย ในร้านขายยามีทั้งเป็นแคปซูลและเป็นเม็ด ยาฆ่าเชื้อที่เป็นแคปซูล มีทั้งที่มีสีเดียวกันทั้งเม็ดและมีสองสี 


antibiotic
     
        เราไม่ควรใช้ยาฆ่าเชื้อพร่ำพรือ ควรใช้ในกรณีที่จำเป็นและต้องรับประทานให้ครบตามจำนวนวันที่กำหนด อย่างเช่น บางตัวต้องทานทั้งหมด 3 วัน บางตัวต้องทาน 5 วัน บางตัวอาจต้องทานถึง 15 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโรคและชนิดของยา ผู้ป่วยจะต้องปฎิบัติตามอย่างเครงครัด เพื่อป้องกันการดื้อยา

        ส่วนยาแก้อักเสบ (Anti-inflammatory) นั้น มาเข้าใจถึงความหมายของคำว่า "อักเสบ" กันสักนิดค่ะ

        การอักเสบ (Inflammation) หมายถึง การที่ร่างกายมีการตอบสนองต่อสิ่งที่เป็นอันตราย ไม่ว่าจะเป็น จากเชื้อโรค การระคายเคือง สารเคมี การบาดเจ็บ หรือภูมิคุ้มกันตัวเอง ลักษณะที่แสดงออกมาทำให้มีการปวด ร้อน บวม แดง เป็นการแจ้งเตือนต่อร่างกาย เพื่อให้เอาสิ่งที่เป็นอันตรายออกไปและซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ถูกทำลาย ฉะนั้น การอักเสบไม่ใช้อาการของการติดเชื้อ แต่เป็นการตอบสนองของร่างกายเพื่อต่อต้านเชื้อโรคและปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวมาข้างต้น

        ยาแก้อักเสบ (Anti-inflammatory) เป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการปวด ร้อน บวม แดง ยาแก้อักเสบที่มีในร้านขายยา มีทั้งแบบเป็นเม็ดและเป็นแคปซูล 


Anti-inflammatory

       จะเห็นได้ว่า ถ้าดูแต่เม็ดยาแล้ว ไม่สามารถบอกได้ว่า ยาไหนคือยาฆ่าเชื้อ และยาไหนคือยาแก้อักเสบ เนื่องจากรูปลักษณ์ภายนอกเหมือนกัน ยาฆ่าเชื้อไม่ได้มีแต่เป็นแคปซูล ยาแก้อักเสบก็ไม่ได้มีแต่เป็นเม็ด ฉะนั้น เวลาจะทานยาอะไร จะต้องอ่านฉลากหรืออ่านที่หน้าซองยาก่อนทุกครั้ง และปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด

        มาดูตัวอย่างของการเข้าใจผิดในการมาหาซื้อยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบ

ตัวอย่างที่ 1 

ลูกค้า : มาขอซื้อยาแก้อักเสบค่ะ พอดีนอนตกหมอนค่ะ
เภสัชกร : (ซักอาการเรียบร้อยพร้อมจ่ายยาแก้อักเสบ) 
ลูกค้า : โอ้วว คุณเภสัชกรคะ ไม่ใช่นะคะ คืออยากได้ยาเป็นแคปซูลค่ะ

        ตัวอย่างนี้ แสดงให้เห็นว่า ลูกค้าเข้าใจว่า ยาแก้อักเสบที่เค้าต้องการ ก็คือยาฆ่าเชื้อ พูดง่าย ๆ ก็คือ เค้าจะมาซื้อยาฆ่าเชื้อ ไปบรรเทาอาการปวดคอที่เกิดจากการตกหมอน 
     
        เมื่อท่านผู้อ่านอ่านมาจนถึงตรงนี้ ก็เข้าใจได้ทันทีแล้วใช่มั้ยคะว่า ลูกค้าคนนี้จะต้องได้รับยาแก้อักเสบ (อย่างที่ปากพูด) ไม่ไช่ยาฆ่าเชื้อ

ตัวอย่างที่ 2

ลูกค้า : มาขอซื้อยาแก้อักเสบค่ะ พอดีไอมาก เสมหะข้นมีสีเขียว เจ็บคอมาก เป็นมาหลายวันแล้ว
เภสัชกร : (ซักอาการเรียบร้อยพร้อมจ่ายยาฆ่าเชื้อและยาแก้ไอ) 

        ท่านผู้อ่านทราบแล้วใช่มั้ยคะว่า ลูกค้าคนนี้เค้าเข้าใจผิด เค้าคิดว่า ยาที่เค้าได้รับนั่น เรียกว่ายาแก้อักเสบ แต่ที่จริงแล้ว มันเป็นยาฆ่าเชื้อ

      คราวนี้ท่านผู้อ่านก็เข้าใจแล้วใช่มั้ยคะว่า ยาฆ่าเชื้อกับยาแก้อักเสบนั้น มันคนละตัวยาและทำงานคนละอย่างกัน เวลาไปซื้อยามาทานเองที่ร้านขายยา หากไม่แน่ใจ ให้ถามเภสัชกรประจำร้านนะคะ :)
      

2 ความคิดเห็น:

  1. เป็นประโยชน์มากๆเลยค่ะ

    ตอบลบ
  2. ยาแก้อักเสบและยาฆ่าเชื้อมีแบบรวมกันในแคปซูลเดียวกันหรือป่าวครับ

    ตอบลบ